วันจันทร์ที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2555

ย้อนอดีตสู่ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนภาคเหนือ

สถาบัน กศน.ภาคเหนือ
สถาบันพัฒนาการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยภาคเหนือ
(Northern Regional Institute for Non-Formal and Informal Education)

สถาบัน กศน.ภาคเหนือ เป็นสถานศึกษาขึ้นตรง สังกัด 
สำนักงาน กศน.
สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงศึกษาธิการ
จัดตั้งตามประกาศของพระราชบัญญัติส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2551
ที่ตั้งของสถาบัน กศน.ภาคเหนืออยู่เลขที่ 193 ถนนจามเทวี ตำบลบ่อแฮ้ว อำเภอเมืองลำปาง จังหวัดลำปาง รหัสไปรษณีย์ 52100
ภารกิจและหน้าที่
ทำหน้าที่ในการวิจัยและพัฒนาหลักสูตร สื่อ กิจกรรม การเรียนรู้ และพัฒนาบุคลากร ที่จัดการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย รวมถึงการจัดทำมาตรฐานการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย ให้สอดคล้องกับสภาพ ปัญหาและความต้องการประชาชนในภูมิภาค กลุ่มเป้าหมายที่ให้บริการ ได้แก่ บุคลากรของสถานศึกษาในสังกัดสำนักงาน กศน.ในภาคเหนือ 17 จังหวัด ได้แก่ สำนักงาน กศน.จังหวัด ศูนย์บริการการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอ ศูนย์ฝึกและพัฒนาอาชีพราษฎรไทยบริเวณชายแดน ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา รวมทั้งสิ้น 214 สถานศึกษา

ประวัติการจัดตั้ง
ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนภาคเหนือเป็นสถานศึกษาที่จัดตั้งขึ้นตามประกาศของกระทรวงศึกษาธิการเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2519 ก่อนการประกาศตั้งศูนย์ (15 ตุลาคม 2519) กองการศึกษาผู้ใหญ่ กรมสามัญศึกษาได้ดำเนินงานการศึกษานอกโรงเรียนในรูปของศูนย์การศึกษาผู้ใหญ่ภาคเหนือ ซึ่งตั้งอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อได้ประกาศตั้งศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนภาคเหนือที่จังหวัดลำปางแล้วได้ยุบศูนย์การศึกษาผู้ใหญ่ภาคเหนือ โดยแบ่งทรัพย์สินและบุคลากรออกเป็น 2 ส่วน ส่วนหนึ่งไปจัดตั้งเป็นศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนประจำภาคเหนือจังหวัดลำปาง ส่วนหนึ่งจัดตั้งเป็นศูนย์การศึกษาประชาชนจังหวัดเชียงใหม่ ตั้งอยู่ ณ ที่เดิม คือบริเวณตรงข้ามสนามกีฬาจังหวัดเชียงใหม่ ต่อมาได้มีการเปลี่ยนชื่อศูนย์ใหม่เป็น ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนภาคเหนือ ส่วนศูนย์การศึกษาประชาชนจังหวัดเชียงใหม่เปลี่ยนเป็นศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนจังหวัดเชียงใหม่ ศูนย์การศึกษาผู้ใหญ่ภาคเหนือได้ย้ายจากจังหวัดเชียงใหม่มาตั้ง ณ ที่บ้านน้ำโท้ง หมู่ที่ 5 ตำบลบ่อแฮ้ว อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง มีเนื้อที่ประมาณ 220 ไร่ ซึ่งเป็นเวลาที่การก่อสร้างอาคารที่ทำการได้ก่อสร้างเสร็จแล้วรุ่นแรก (เริ่มลงมือก่อสร้างเมื่อเดือนพฤษภาคม 2519) มีเจ้าหน้าที่และข้าราชการจากศูนย์การศึกษาผู้ใหญ่ภาคเหนือ จังหวัดเชียงใหม่ที่สมัครใจมาทำงานที่จังหวัดลำปาง 20 คน การก่อสร้างได้สร้างบ้านพักและที่ทำการ ต่าง ๆ เรื่อยมาและเสร็จเรียบร้อยตามโครงการเงินกู้จากธนาคารโลกเมื่อสิ้นปี 2523 และมีพิธีเปิดศูนย์ฯ โดยอธิบดีกรมการศึกษานอกโรงเรียนคนแรก คือ นายบรรจง ชูสกุลชาติ ได้มาเป็นประธานเปิดในวันที่ 27 ธันวาคม 2522

นอกจากศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนภาคเหนือเหนือแล้ว การประกาศจัดตั้งตั้งศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนภาคนั้นยังได้ได้ดำเนินการประกาศจัดตั้งพร้อมกันอีก 3 แห่งรวม 4 แห่ง คือ ภาคกลางที่ราชบุรี ภาคใต้ที่จังหวัดสงขลา และภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่จังหวัดอุบลราชธานี โดยรัฐบาลได้กู้เงินจากธนาคารโลกมาดำเนินการ


รูปแบบการก่อสร้างของศูนย์
ลักษณะการก่อสร้างอาคารทั้ง 4 ศูนย์ฯ มีลักษณะที่แตกต่างกันคือ ที่ศูนย์ฯ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะใช้สถานที่ ศ.อ.ศ.อ. เดิม โดยการปรับปรุง ซ่อมแซม ต่อเติมอาคารเดิมที่มีอยู่ ส่วนภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ เป็นศูนย์ที่สร้างขึ้นใหม่ทั้งหมด โดย
ศูนย์ฯ ภาคกลางและศูนย์ฯ ภาคใต้ ได้ใช้รูปแบบอาคารของบริษัทชัชวาลเดอร์เวอร์เกอร์ทั้งสิ้น ซึ่งบริษัทดังกล่าวธนาคารโลกมีสัญญาจ้างให้เป็นผู้ออกแบบอาคารต่าง ๆ มีอาคารที่ทำการห้องสมุด โรงฝึกงาน บ้านพักครูและภารโรง
สำหรับศูนย์ฯภาคเหนือ มีลักษณะพิเศษคือ อาคารที่สร้งในปี 2519 ที่ใช้แบบของสถาปนิก กรมสามัญศึกษา ได้แก่ ตึกบริหาร ตึกฝ่าย หอประชุม โรงอาหาร และบ้านพักครู จำนวน 4 หลัง และอาคารที่ประชุมสัมมนาย่อยอีก 2 หลัง ส่วนอาคารอื่น ๆ ที่สร้างในรุ่นต่อมาใช้แบบของบริษัทชัชวาลเดอร์เวอร์เกอร์ รวม 12 หลัง ซึ่งมีผังบริเวณศูนย์ฯ ดังภาพ


การปรับปรุงพื้นที่บริเวณ
พิ้นที่เดิม..จังหวัดลำปางยกให้เป็นสถานที่ตั้งศูนย์ฯ ประมาณ 300 ไร่ แต่เนื่องจากมีราษฎรเข้ามาจับจองใช้ทำประโยชน์ เช่น ปลูกอ้อย ปลูกผัก อยู่ประมาณ 10 ครอบครัว เพื่อเป็นการแก้ปัญหาทางจังหวัดจึงแบ่งให้ราษฎรเหล่านี้ได้ใช้เป็นที่ทำกิน ซึ่งอยู่อีกส่วนหนึ่งทางด้านหลังประมาณ 90 ไร่ และได้รับราษฎรบางส่วนเข้ามาเป็นคนงาน ภารโรง และยามของศูนย์ฯ สภาพที่ดินภายในศูนย์ฯ เป็นที่ดินเลว ต้องมีการปรับปรุงอย่างมาก ตลอดจนการปรับตกแต่ง วางแผนผัง จัดแบ่งเป็นที่ทำการเกษตร ที่สร้างอาคาร ถนน บ้านพัก จนถึงปัจจุบันได้จัดปลูกไม้ผล ไม้ยืนต้น ไม้ประดับ ซึ่งทางศูนย์ฯ ได้เน้นการปลูกไม้ผล มีมะม่วง มะขาม น้อยหน่า ส้มโอ ลำไย ในปี 2527 สามารถสร้างรายได้จากมะม่วง ประมาณ 5,000 บาท นอกจากไม้ผลแล้วยังมีคอกเลี้ยงวัวประมาณ 60 ไร่ ขณะนั้นมีวัว 26 ตัว มีพ่อพันธุ์วัว 2 ตัว และมีการเลี้ยงหมู การเลี้ยงสัตว์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อทำให้ที่ดินอุดมสมบูรณ์ และได้ปรับให้สอดคล้องกับความจำเป็นตามภารกิจที่ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการจัดการศึกษาให้สอดคล้องกับ สถานการณ์และความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย คือมีการปรับโครงสร้างการบริหาร และภารกิจ

บุคลากรนั้บตั้งแต่ปี 2520 ซึ่งเป็นปีเริ่มต้นของศูนย์ฯ มีบุคลากรซึ่งเป็นข้าราชการและลูกจ้างประจำรวมกัน 20 คน ทางกรมสามัญศึกษา (ในสมัยนั้น) ได้ตั้งอัตราข้าราชการของศูนย์ฯ ภาคไว้ 87 อัตรา ต่อมาในปี 2520 ได้เพิ่มให้อีก 5 อัตราจนถึงปี พ.ศ. 2527 มีข้าราชการ 92 อัตรา ลูกจ้างประจำซึ่งเป็นครูสอนวิชาชีพ 1 อัตรา พนักงานพิมพ์ใน โรงพิมพ์ 3 อัตรา พนักงานขับรถ 8 อัตรา ที่เหลือ 36 อัตราเป็นภารโรง ยามและคนสวน
ปัจจุบัน ปีงบประมาณ 2555 สถาบัน กศน.ภาคเหนือ มีข้าราชการ 20 คน ลูกจ้างประจำ 21 คน ลูกจ้างชั่วคราว 3 คน รายละเอียดเพิ่มเติม

โครงสร้างการบริหารงาน
สถาบัน กศน.ภาคเหนือ ได้ยึดหลักการบริหารงานแบบมีส่วนร่วม และกระจายการบริหารงานในรูปแบบกลุ่มงาน เพื่อช่วยในการบริหารงานในระดับกลุ่ม เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการบริหารงาน และสามารถตอบสนองต่อนโยบายของสำนักงาน กศน.
ปัจจุบัน(2555) สถาบัน กศน.ภาคเหนือ แบ่งเป็น 5 กลุ่มงาน ดังนี้
1. กลุ่มอำนวยการ
2. กลุ่มวิจัยและพัฒนานวัตกรรมการศึกษานอกระบบและอัธยาศัย
3. กลุ่มจัดการศึกษานอกระบบประเภทต่อเนื่องและการศึกษาอัธยาศัย
4. กลุ่มเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา
5. กลุ่มพัฒนาการศึกษาบนพื้นที่สูงและโครงการพระราชดำริฯ

ย้อนอดีตภาพแห่งความหลังสมัยศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนภาคเหนือ

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น